top of page

ชวเลขไทยเบื้องต้นเพื่องานอาชีพเลขานุการ

20180831_143401.jpg

ประวัติความเป็นมา

    ชวเลข (Shorthand) ไม่ใช่วิชาใหม่ แต่ได้เกิดขึ้นและนำมาใช้เป็นประโยชน์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 480 หรือก่อนคริสต์ศักราช 63 ปี

     ผู้ให้กำเนิดวิชาชวเลขเป็นคนแรกในโลก คือ มาคุส ตุลลิอุส ไทโร (Marcus Tullius Tiro)  ได้สร้างการเขียนสัญลักษณ์ขึ้นมาวิธีหนึ่ง เรียกว่า “การเขียนแบบไทโร” ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิด “ชวเลข” ไทโรสามารถประดิษฐ์เครื่องหมายแทนคำพูดได้ซึ่งเครื่องหมายเหล่านี้จะเหมือนหรือแตกต่างกันไม่ได้

      นอกจากไทโรจะบันทึกคำพูดของ ซิเซโร นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่แล้ว เขายังสามารถบันทึกถ้อยคำของ ซีซาร์ กาโต และซีเมกา ทำให้มีผู้มาสมัครเป็นศิษย์มากมาย ซึ่งเป็นรากฐานให้เกิดชวเลขขึ้นหลายแบบเนื่องจากการเขียนแบบไทโรจดจำยาก จึงได้มีการคิดค้นชวเลขแบบใหม่ขึ้นในภายหลัง

      ดร. ซีมอซีไบร์ท และ ยอห์น วิลลิส ได้คิดวิธีใช้เครื่องหมายแทนพยัญชนะได้สำเร็จต่อมามีผู้คิดวิธีเขียนตามเสียงขึ้นได้ และได้มีการแก้ไขปรับปรุงใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ผู้คิดวิธีตามเสียง คือ วิลเลียมส์ ทิฟฟิน (Williams Tiffin) เมื่อปี ค.ศ. 1750                  

วิธีเขียนตามเสียง ได้วิวัฒนาการมาตามลำดับ และที่นิยมทีสุดมี 2 แบบ คือ

  1. แบบปิทแมน  ผู้คิดคือ เซอร์ ไอแซค ปิทแมน (Sir Isaac Pitman)

  2. แบบเกร๊กก์  ผู้คิดคือ จอห์น โรเบิร์ต เกร๊กก์ (John Robert Gregg)

 

       ในประเทศไทย ชวเลขแบบปิทแมนได้เข้ามาก่อนแบบอื่น ม.จ. สิทธิพร กฤดากร ได้ทรงดัดแปลงชวเลขแบบปิทแมนมาจากภาษาอังกฤษได้สำเร็จ ได้เมื่อปี พ.ศ. 2451 และได้ทรงเริ่มการสอนนักเรียนในปลายปีนั้น ถึงต้นปี 2452 ร่วมเวลา 8 เดือน มีนักเรียนสามารถเขียนชวเลขได้นาทีละ 130 คำ และได้บรรจุเป็นนักชวเลขโดยการสอบแข่งขันได้ถึง 11 คน เป็นนักชวเลขประจำกระทรวงยุติธรรม ม.จ. สิทธิพร ทรงได้รับพระราชทานรางวัลความสามารถเป็นเงิน 1 หมื่นบาท       

        ในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยคุณลักษณะอันดีของชวเลขแบบปิทแมนซึ่งสามารถเขียนและถอดเป็นอักษรธรรมดาได้รวดเร็ว แม่นยำ พระบาทสมเด็จมหาธีรราชเจ้า (รัชกาลที่ 6) ได้ทรงใช้วิชาชวเลขแบบนี้มาตลอดสมัยของพระองค์ ปรากฏหลักฐานที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้คือ หนังสือเทศนาเสือป่า และสั่งสอนเสือป่า ได้สำเร็จขึ้นด้วยความสามารถในการเขียนชวเลขของหลวงชวลักษณ์ลิขิต (ดำเนิน จิตรหมึก) ศิษย์เอกของ ม.จ. สิทธิพร กฤดากร นั่นเอง

ชวเลขไทยแบบเกร๊กก์ เข้ามาสู่ประเทศไทย โดยหลวงมิตรธรรมพิทักษ์ (วงศ์ เศวตเลข) เป็นผู้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ นำมาเผยแพร่สอนตามโรงเรียนชวเลขและพิมพ์ดีดในพระนครและที่สมาคมชวเลขเกร๊กก์แห่งประเทศไทย

นอกจากชวเลขทั้งสองแบบมีผู้ประดิษฐ์ชวเลขไทยขึ้นอีกแบบหนึ่งเรียกชื่อตามนามของผู้ประดิษฐ์โดยย่อว่า “ด.ท.ร. รัสสเลข” ชื่อเต็มของผู้ประดิษฐ์ คือ นายดาบทองสุข รักษ์นุษย์

 

คำแนะนำการเรียนชวเลขไทย

        ชวเลข (Shorthand) แปลว่า เขียนเร็ว เป็นการใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาเขียนแทนตัวหนังสือธรรมดา ซึ่งเขียนได้รวดเร็วกว่าเขียนด้วยตัวอักษรธรรมดา ชวเลขไม่ใช่เป็นวิชาใหม่แต่มีมานานแล้ว เป็นวิชาที่น่าสนใจมาก เพราะทำให้ผู้เรียนสามารถเขียนได้ทันคนพูดและยังสามารถนำไปเขียน Lecture ในชั้นเรียนได้ชวเลขมีความจำเป็นมากสำหรับงานด้านเลขานุการ สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น รับคำสั่งผู้บังคับบัญชา รับโทรศัพท์ ร่างจดหมายโต้ตอบ จดบันทึกส่วนตัว และจดบันทึกการประชุมของหน่วยงานต่าง ๆ

แบบของชวเลข

        ชวเลขมี 2 แบบ คือ แบบเกร๊กก์ ของอเมริกา และแบบปิทแมน ของอังกฤษ การเขียนชวเลขทั้ง 2 แบบ มีหลักการเขียนอย่างเดียวกัน คือ เขียนตามเสียงออกเสียงอย่างไรก็เขียนตามเสียงนั้น ๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงตัวสะกดการันต์

  1. ชวเลขแบบเกร๊กก์ เป็นแบบที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะเขียนได้ทั้งปากกาและดินสอ ได้สะดวกรวดเร็ว

  2. ชวเลขแบบปิทแมน ใช้เขียนด้วยดินสอ เพราะมีเส้นหนักเส้นเบา และต้องอาศัยเส้นบรรทัดในการกำหนดตำแหน่งของสระแต่ละตัว ทำให้ถอดข้อความได้ถูกต้องแม่นยำ

 

                        อ้างอิงจาก หนังสือเรียน ชวเลขไทยเบื้องต้น(แบบเกร๊กก์)

ภาพหนังสือเรียน ชวเลขไทยเบื้องต้น(แบบเกร๊กก์)
bottom of page